วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2557

โทษของผู้ฝ่าฝืนการเซ็นเซอร์สื่อ

 

เมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเซ็นเซอร์สื่อแล้ว กฎหมายจะมีสภาพบังคับได้ก็ต่อเมื่อมีบทกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนเอาไว้ด้วย ดังนั้น หากมีคำสั่งจากผู้มีอำนาจ ด้วยเงื่อนไขตามกฎหมายเพื่อปิดกั้นสื่อแล้ว และมีผู้ฝ่าฝืนไม่เชื่อฟัง ยังคงเผยแพร่สื่อนั้นสู่สาธารณะต่อไป ก็ย่อมมีความผิดและมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้ควบคุมสื่อแต่ละประเภทก็แตกต่างกันไปตามประเภทของสื่อด้วย

โทษของผู้ฝ่าฝืนการเซ็นเซอร์สื่อ
ประเภทสื่อโทษของผู้ฝ่าฝืน
วิทยุและโทรทัศน์ปรับ 50,000 – 500,000 บาท หรือเพิกถอนใบอนุญาต
สิ่งพิมพ์จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภาพยนตร์จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อินเทอร์เน็ตจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หรือ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


วิทยุและโทรทัศน์

พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๕๗ ประกอบกับ มาตรา ๕๘ กำหนดไว้ชัดเจนถึงโทษของเจ้าของสถานีที่ไม่ควบคุมดูแลปล่อยให้รายการที่ผิดกฎหมาย ตามมาตรา ๓๗ ออกอากาศในสถานีของตน ซึ่งโทษตามกฎหมายนี้จะมีเพียงโทษปรับทางปกครอง และผู้ที่มีอำนาจสั่งปรับคือ คณะกรรมการกสทช.

มาตรา ๕๗ โทษปรับทางปกครอง มีดังต่อไปนี้

(๑) โทษปรับทางปกครองชั้น ๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
(๒) โทษปรับทางปกครองชั้น ๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาท แต่ไม่เกินห้าแสนบาท
(๓) โทษปรับทางปกครองชั้น ๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาท แต่ไม่เกินห้าล้านบาท

มาตรา ๕๙ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ใด

(๑) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๔ วรรคห้า มาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๘
(๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ มาตรการ หรือประกาศที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๔๕ (๓) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๔ วรรคสี่ หรือมาตรา ๓๗ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับทางปกครองชั้น ๒” หากได้รับโทษปรับแล้ว แต่เจ้าของสถานียังคงออกอากาศรายการที่ผิดต่อกฎหมายอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็ยังคงต้องรับโทษปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราสองหมื่นบาทต่อวัน ตามมาตรา ๖๑

มาตรา ๖๑ ถ้าการกระทำความผิดซึ่งมีโทษปรับทางปกครองเป็นความผิดต่อเนื่อง และคณะกรรมการได้พิจารณาสั่งลงโทษปรับทางปกครองสำหรับความผิดนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับรายวันอีกในอัตราดังต่อไปนี้ นับแต่วันที่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองดังกล่าว ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

(๑) กรณีโทษปรับทางปกครองชั้น ๑ ให้ปรับวันละไม่เกินห้าพันบาท
(๒) กรณีโทษปรับทางปกครองชั้น ๒ ให้ปรับวันละไม่เกินสองหมื่นบาท
(๓) กรณีโทษปรับทางปกครองชั้น ๓ ให้ปรับวันละไม่เกินห้าหมื่นบาท

ให้คณะกรรมการดำเนินการบังคับให้มีการชำระค่าปรับรายวันทุกสิบห้าวัน
นอกจากนี้ หากการออกอากาศรายการที่ผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง คณะกรรมการกสทช. อาจสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตของเจ้าของสถานีได้ ตามมาตรา ๖๔

มาตรา ๖๔ คณะกรรมการอาจพิจารณาสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

(๒) ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนมาตรา ๓๗ และเป็นกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง

สิ่งพิมพ์
พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีบทกำหนดโทษไว้ชัดเจนสำหรับผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา ๒๗

มาตรา ๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามมาตรา ๑๐ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาพยนตร์

พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ มีบทกำหนดโทษไว้ชัดเจน สำหรับผู้ฝ่าฝืนนำภาพยนตร์ที่ถูกจัดเป็นประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรออกเผยแพร่ ในมาตรา ๗๗

มาตรา ๗๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง หรือนำภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๖ (๗) ออกเผยแพร่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อินเทอร์เน็ต

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ไม่ได้กำหนดไว้โดยตรงว่าหากมีคำสั่งปิดกั้นเนื้อหาใดบนเว็บไซต์ใดแล้ว หากใครฝ่าฝืนนำเนื้อหาดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อจะเป็นความผิด แต่เนื่องจากเงื่อนไขของคำสั่งปิดกั้นเนื้อหาบนเว็บไซต์ คือ เนื้อหานั้นต้องเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ดังนั้นหากมีคำสั่งปิดกั้นเนื้อหาใดแล้ว แต่ยังมีคนนำเนื้อหานั้นมาเผยแพร่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อยู่ คนนั้นก็ย่อมมีความผิดตามมาตราที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัตินี้ หากเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือลามกอนาจาร ก็จะมีความผิดตามมาตรา ๑๔ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเป็นการตัดต่อภาพบุคคล โดยประการที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ก็จะมีความผิดตามมาตรา ๑๖ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔

มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ขอบคุณที่มา : ilawfreedom 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น