วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557

กฎหมายสื่อและการควบคุมสื่อ


ในประเทศไทยของเรานะคะก็มีพระราชบัญญัติที่ออกมาเป็นการเฉพาะเพื่่อควบคุมสื่่่อแต่ละประเภท มีดังนี้

กฎหมายไทยที่ใช้ควบคุมสื่อและการแสดงความคิดเห็น

ประเภทสื่อ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

วิทยุและโทรทัศน์
พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 

พ.ศ. 2551
พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบ
กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการ
โทรคมนาคม พ.ศ. 2553
สิ่งพิมพ์พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550
ภาพยนตร์พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
อินเทอร์เน็ต
พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 พ.ศ. 2550

         กฎหมายกำหนดเงื่อนไขการปิดกั้นสื่อแต่ละประเภทไว้ไม่เหมือนกัน โดยรวมอาจมีหลักการหลายอย่างที่สอดคล้องกันแต่หากเปรียบเทียบกฎหมายหลายฉบับจะพบว่า มีเนื้อหาบางประเภทที่สามารถเผยแพร่ในสื่อบางประเภทได้ แต่ไม่สามารถเผยแพร่ในสื่อบางประเภทได้ ขณะที่เนื้อหาบางประเภท เช่น เนื้อหาที่ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อย” หรือ “ศีลธรรมอันดี” ถูกกำหนดให้เป็นเงื่อนไขห้ามเผยแพร่ในกฎหมายที่ควบคุมดูแลสื่อทุกประเภท

วิทยุ และโทรทัศน์

การดำเนินงานที่เกี่ยวกับสื่อวิทยุและโทรทัศน์ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้อ้างอิงคำนิยามและอำนาจหลายอย่างไว้กับ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช.

พ.ร.บ.กสทช. กำหนดบทนิยามของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายนี้เอาไว้ว่า

“กิจการกระจายเสียง” หมายความว่า กิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการกระจายเสียง ซึ่งให้บริการการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการไปยังเครื่องรับที่สามารถรับฟังการให้บริการนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะส่งผ่านระบบคลื่นความถี่ ระบบสาย ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้า หรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบรวมกัน หรือกิจการอื่นทำนองเดียวกันที่ กสทช. กำหนดให้เป็นกิจการกระจายเสียง

“กิจการโทรทัศน์” หมายความว่า กิจการวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรทัศน์ ซึ่งให้บริการการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการไปยังเครื่องรับที่สามารถรับชมและฟังการให้บริการนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะส่งโดยผ่านระบบคลื่นความถี่ ระบบสาย ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้า หรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบรวมกัน หรือกิจการอื่นทำนองเดียวกันที่ กสทช. กำหนดให้เป็นกิจการโทรทัศน์

และยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ และบางครั้งก็ถูกนำมาใช้เพื่อเอาผิดกับผู้ที่ใช้สื่อคลื่นวิทยุส่งข้อมูลข่าวสารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย


สิ่งพิมพ์

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย คือ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ดูแลครอบคลุมสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิด โดยบทนิยามกำหนดความหมายของสิ่งพิมพ์ที่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ว่า

“พิมพ์” หมายความว่า ทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร รูปรอย ตัวเลข แผนผังหรือภาพโดยวิธีการอย่างใด ๆ
“สิ่งพิมพ์” หมายความว่า สมุด หนังสือ แผ่นกระดาษ หรือวัตถุใดๆ ที่พิมพ์ขึ้นเป็นหลายสำเนา

แต่มีสิ่งพิมพ์บางประเภทที่ไม่รวมอยู่ในความควบคุมของกฎหมายฉบับนี้ ตามที่กำหนดในมาตรา 5

มาตรา 5  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับสิ่งพิมพ์ ดังต่อไปนี้ คือ
(1) สิ่งพิมพ์ของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ
(2) บัตร บัตรอวยพร ตราสาร แบบพิมพ์ และรายงานซึ่งใช้กันตามปกติในการส่วนตัว การสังคม การเมือง การค้า หรือสิ่งพิมพ์ที่มีอายุการใช้งานสั้น เช่น แผ่นพับหรือแผ่นโฆษณา
(3) สมุดบันทึก สมุดแบบฝึกหัด หรือสมุดภาพระบายสี
(4) วิทยานิพนธ์ เอกสารคำบรรยาย หลักสูตรการเรียนการสอน หรือสิ่งพิมพ์อื่นทำนองเดียวกันที่เผยแพร่ในสถานศึกษา

ภาพยนตร์

พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมถึงภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยในบทนิยามกำหนดความหมายของภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่จะต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ว่า

“ภาพยนตร์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์
“วีดิทัศน์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบ หรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การปิดกั้นหรือการสั่งแบนภาพยนตร์ จะต้องอ้างอิง “กฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552” ซึ่งกำหนดลักษณะภาพยนตร์ที่เข้าข่ายอาจถูกสั่งให้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามฉายในราชอาณาจักร หรือลักษณะของภาพยนตร์ที่อาจถูกกำหนดให้เป็นภาพยนตร์ประเภทต่างๆ ไว้ด้วย

พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ต่างจากกฎหมายที่ควบคุมสื่อประเภทอื่น เพราะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้สร้างภาพยนตร์ที่จะต้องส่งภาพยนตร์ให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาก่อนนำออกฉาย แต่กฎหมายที่ควบคุมสื่อประเภทอื่นไม่ได้กำหนดหน้าที่เช่นนี้ เพียงแค่กำหนดโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนหากมีการเผยแพร่สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมายออกไปแล้ว และให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการสั่งปิดกั้นในภายหลัง

อินเทอร์เน็ต

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ดูแลครอบคลุมการใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกประเภท โดยในบทนิยามกำหนดความหมายของระบบคอมพิวเตอร์ที่จะต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ว่า

“ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ
“ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

อาจอธิบายจากคำนิยามได้ว่า กฎหมายฉบับนี้จะเข้ามาควบคุมดูแลการใช้งานอุปกรณ์ทุกอย่างที่ทำงานด้วยชุดคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ไอแพด แท็บเล็ต ฯลฯ รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางอย่าง เช่น โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์บ้าน ฯลฯ ที่อาจทำงานด้วยการใส่ชุดคำสั่งด้วย และการกระทำที่เป็นการใส่ชุดคำสั่งใดๆ ลงในคอมพิวเตอร์ย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ทั้งหมด

กฎหมายอื่นๆ

นอกจากพระราชบัญญัติที่ออกมาเพื่อควบคุมสื่อแต่ละชนิดโดยตรงแล้ว ยังมีกฎหมายอื่นที่ให้อำนาจรัฐปิดกั้นและควบคุมสื่อได้ โดยเฉพาะกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในภาวะที่บ้านเมืองมีสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น ตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน หรือภาวะสงคราม

ตัวอย่างเช่น พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดไว้ว่า

“มาตรา 9  ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้...
(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร”

“มาตรา 11  ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อมีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว นอกจากอำนาจตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย...
...(5) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม
(6) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน”

พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 กำหนดไว้ว่า

“มาตรา 11 การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้...
(2) ที่จะห้ามออก จำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพบทหรือคำประพันธ์
(3) ที่จะห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์”  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น